พรรณไม้หอม

พรรณไม้หอมจัดเป็นพรรณพืชที่มีความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมไทยมากกลุ่มหนึ่ง มีความผูกพันกับคนไทยมายาวนาน ในวรรณกรรมหลายยุคหลายสมัย จะต้องมีบทกวีที่กล่าวถึงพรรณไม้หอมอยู่เสมอ พรรณไม้หอมหลายชนิดนอกจากให้ดอกหอมชื่นใจแล้ว ยังเป็นสมุนไพรใช้ผสมเป็นยารักษาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ และใช้เนื้อไม้ทำเครื่องใช้และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยได้อีกด้วย ประเทศไทยอยู่ในเขตศูนย์สูตร ซึ่งมีป่าที่เป็นที่อยู่ของพรรณพืชต่าง ๆ ชนิดกันจำนวนมาก พรรณไม้หอมหลายชนิดพบในป่าของไทย บางชนิดนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ได้ปลูกกันไว้ใช้ประโยชน์มานานมาก ความรู้ที่คนไทยพื้นบ้านได้สั่งสมกันมาเป็นเวลายาวนานในการใช้ประโยชน์ของพรรณพืชต่าง ๆ ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาไทยที่สมควรอนุรักษ์ไว้ให้เป็นความภูใจของคนรุ่นหลัง ซึ่งนับวันจะมีโอกาสได้สัมผัสความรู้เหล่านี้น้อยลงทุกที
บทความนี้เป็นรายงานเพียงส่วนหนึ่งของผลการวิจัยเรื่องการอนุรักษ์และการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณพืชศิลปวัฒนธรรมไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ การเจริญเติบโต การกระจายพันธุ์ การออกดอก ระยะเวลาการให้กลิ่นหอม การขยายพันธุ์ และการใช้ประโยชน์พื้นบ้าน ในรายงานได้กล่าวถึงเพียง 16 ชนิด ได้แก่ กรรณิการ์ กระถินเทศ กระทิง กระเบา กันเกรา กุหลาบ จันทน์เทศ จำปา จำปี จำปีสีนวล นมแมว พญาสัตบรรณ พิกุล มะลิ ลำดวน และสารภี ซึ่งเป็นพรรณไม้หอมที่ให้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งนี้ได้รวมเกร็ดประวัติ และตำรับยาที่ได้จากการสัมภาษณ์บุคคลไว้ด้วย เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นที่สนใจสำหรับท่านผู้อ่าน หวังว่าการวิจัยครั้งนี้จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจใคร่ศึกษาและสนับสนุนให้ศึกษาพรรณไม้กลุ่มนี้ให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น





1. กรรณิการ์ Nyctanthes arbor-tritis Linn.
วงศ์ Verbenaceae
ชื่ออื่น กณิการ์, กรณิการ์ (ภาคกลาง)
ชื่อสามัญ Night Glooming Jasmine, Night Flower Jasmine, Night Blooming Jasmine, Tree of Sadness
กรรณิการ์ เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นเหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ใบสาก ขอบใบเรียบหรือมีจักเล็กน้อย ดอกออกตามโคนก้านใบหรือปลายกิ่ง มีขนาดเล็กออกเป็นช่อ กลีบดอกมีสีขาว มี 6 กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสีส้ม มีกลิ่นหอมเย็นในเวลากลางคืน เดิมเป็นไม้ต่างประเทศและนำเข้ามาปลูกแพร่หลายในประเทศไทย ปลูกทั่วไปกลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอน หรือปักชำ
กรรณิการ์ ก้านดอหให้สีเหลืองแสดหรือสีส้ม ใช้ย้อมผ้าไหมหรือทำสีใส่ขนมรับประทานได้ ต้นแก้ปวดศีรษะ ใบบำรุงน้ำดี ดอกแก้ไขและลมวิงเวียน รากแก้อุจจาระเป็นพรรดึก บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ผมหงอก บำรุงผิวหนังให้สดชื่น ต้นและรากต้มรับประทานแก้ไอ



2. กระถินเทศ Acacia farnesiana (L.) Willd.

วงศ์ Mimosaceae
ชื่ออื่น กระถิน, กระถินเทศ (กรุงเทพ), กระถินหอม, คำใต้, ดอกคำใต้ (ภาคเหนือ), มอนคำ (แม่ฮ่องสอน), เกากรึนอง (กาญจนบุรี), ถิน (แถบคาบสมุทร), บุหงาเซียม (แหลมมาลายู), บุหงา (อินโดนีเซีย), บุหงาละสะมะนา (ปัตตานี)
ชื่อสามัญ Sponge Tree, Cassie Flower
กระถินเทศ เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-5 เมตร มีหนามแหลมคมที่โคนก้านใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ช่อย่อยมีใบย่อย 10-21 คู่ รูปขอบขนานขนาดเล็ก ปลายแหลม โคนตัดตรง ดอกสีเหลือง กลิ่นหอมตลอดวัน ออกเป็นช่อตามซอกใบเป็นกระจุกประมาณ 5 ช่อ ช่อดอกเป็นรูปกลมคล้ายดอกกระถิน มีดอกย่อยจำนวนมาก โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ผลเป็นฝักโค้ง กว้าง 1-2 ซม. ยาว 4-7.5 ซม. เมล็ดรูปรี กว้าง 0.5 ซม. ยาว 0.7-0.8 ซม. ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนทั่วโลก และมีดอกตลอดปี เดิมมาจากต่างประเทศ แต่ปลูกกันทั่วไปตามบ้านและวัด เนื่องจากใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ
สรรพคุณทางยา รากใช้เป็นยาอายุวัฒนะ แก้พิษสัตว์กัดต่อย ยางของไม้นี้เรียกว่า กัมอะเคเซีย
ในอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ใช้ลำต้นกระถินเทศ 2-3 กิ่ง ตำหรือทุบแล้วนำมาต้มกับน้ำครึ่งลิตรพอเดือด ทิ้งให้อุ่น ให้หญิงคลอดลูกที่อ่อนเพลียเนื่องจากการตกเลือด ดื่มบำรุงหัวใจจะสดชื่นขึ้นทันที แต่จะให้ดื่มหลังจากการดื่มน้ำใบเสนียด โดยนำใบเสนียดสด 5 ใบ มาโขลกกับเกลือเล็กน้อยดื่มเพื่อห้ามเลือด ถ้ายังไม่หายอ่อนเพลียก็จะให้รับประทานน้ำต้มกิ่งกระถินเทศ แม้ในปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ตามพื้นบ้านทั่วไป เป็นตำรับยาบำรุงหัวใจพื้นบ้านของอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคล แต่ผู้เขียนยังไม่ได้พิสูจน์


3. กระทิง Calophyllum inophyllum Linn.
วงศ์ Guttiferae
ชื่ออื่น กระทิง, กากะทิง (ภาคกลาง), สารภีแนน (ภาคเหนือ), ทิง (กระบี่), เนาวกาน (น่าน), สารภีทะเล (ประจวบฯ)
ชื่อสามัญ Alexandrian Laurel, Borneo Mahogany
กระทิงเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 5-12 เมตร เรือนยอดแผ่เป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกสีน้ำตาลปนเทา ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ กว้าง 4-8 ซม. ยาว 8-15 ซม. ใบคล้ายใบสารภีแต่กว้างกว่า ปลายกลมหรือเว้าเล็กน้อย โคนสอบ เส้นใบถี่และขนานกัน ใบมียางสีขาว ดอกสีขาว กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นสารภี ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอก 5-6 กลีบ เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 ซม. เกสรเพศผู้สีเหลืองมีจำนวนมาก ผลรูปกลมสีเขียวขนาดประมาณ 2 ซม. เมื่อผลแก่จะแห้ง ผิวย่น มีสีน้ำตาล สามารถปลูกได้ทั่วไป มีเขตการกระจายพันธุ์แถบป่าชายทะเล และตามป่าชื้นทั่วไปที่สูงจากระดับน้ำทะเล 5-50 เมตร
แก่นไม้มีสีน้ำตาลอมแดง มักมีเส้นสีแก่กว่าสีพื้นหนักปานกลาง ใช้ในน้ำได้ทนทาน เลื่อยไสกบ ตกแต่งไม่ยาก ไม้ใช้ทำเรือ กระดูกงูเรือ สร้างบ้านเรือน ทำตู้ น้ำมันที่ได้จากเมล็ดใช้จุดตะเกียง ผสมทำเครื่องสำอาง ในสรรพคุณยาไทยใช้ใบสดขยำแช่น้ำเอาน้ำล้างตา แก้ตาฝ้า ตามัว ตาแดง น้ำมันใช้ทาถูนวด แก้ปวดข้อ เคล็ด บวม ดอกปรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ

กากทิงค์ คือพรรณไม้ตรัสรู้ของพระศรีอาริยเมตไตรย
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 84 ของ ส.ธรรมภักดี กล่าวว่า พรรณไม้ที่ชื่อบาลีว่า กากทิงค์ จะเป็นไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นามว่าพระศรีอาริยเมตไตรย บางท้องที่ในภาคกลาง เรียกกระทิงว่า กากะทิง

กะลาจากผลกระทิงใช้หยอดขนมครก
คนบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ใช้กะลาของผลกระทิงมาตักแป้งหยอดขนมครก โดยนำมาทำเป็นกระบวยแล้วใช้ไม้สักทำด้าม จะทำให้ได้ขนมครกที่ไม่หนาจนเกินไป และมีความกรอบพอเหมาะ โดยจะหยอดแป้งโรยไปตามขอบ ๆ หรือเทลงแล้วเอาก้นกระบวยเกลี่ยแป้งไปตามขอบ ประมาณปี พ.ศ. 2490-2495 มีขนมครกที่หยอดด้วยกระบวยกระทิงขายหน้าวัดมหาธาตุฯ ในกรุงเทพมหานคร (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคล)


4. กระเบา Hydonocarpus anthelminthicus Pierre
วงศ์ Flacourtiaceae
ชื่ออื่น กระเบาน้ำ, กระเบาเบ้าแข็ง, กระเบาใหญ่, กาหลง, แก้วกาหลง, กระเบา (ภาคกลาง), กระเบาตึก (เขมร-อีสาน), ตัวโฮ่งจี๊ (จีน), เบา (สุราษฎร์)
กระเบาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ลำต้นเปลาตรง ใบเดี่ยวเรียงสลับ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 15-24 ซม. โคนใบมนปลายเรียวแหลม ดอกแยกเพศและอยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้สีชมพูกลิ่นหอมมากเรียกกันว่า ดอกแก้วกาหลง ออกเดี่ยวตามซอกใบ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 5 อัน ดอกเพศเมียออกเป็นช่อสั้นตามซอกใบ ลักษณะคล้ายดอกเพศผู้ ผลกลม ขนาดเส้นผ่านศูนยืกลาง 8-10 ซม. ผิวเรียบ มีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาลแดง ลักษณะคล้ายผลมะขวิด มีถิ่นกำเนิดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีเขตการกระจายพันธุ์ตามป่าดิบใกล้น้ำทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกดอกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็๋ด
ผลสุกของกระเบารับประทานเนื้อหุ้มเมล็ดได้ เนื้อนุ่ม รสหวานมัน คล้ายเผือกต้ม มีเมล็ดกลมขนาดนิ้วมือ น้ำมันในเมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคเรื้อนและโรคผิวหนังอื่น ๆ เป็นส่วนผสมของน้ำมันใส่ผมได้ดีที่สุด เพราะรักษาผิวหนังบนศีรษะด้วย เนื้อไม้มีสีแดงแกมน้ำตาลเมื่อตัดใหม่ แต่นานไปจะมีสีน้ำตาลอมเทา เสี้ยนตรง เนื้อละเอียดและสม่ำเสมอ แข็ง เลื่อยผ่าง่าย เนื้อไม้ใช้ทำกระดานพื้นบ้าน และทำพื้น
คนพื้นบ้านในพิจิตรใช้เมล้ดกระเบาตำให้ละเอียด อัดใส่ชิ้นตับควายสดให้คนหรือสุนัขกลืนดิบ ๆ จะทำให้ผิวหนังที่เป็นโรคเรื้อนหายเป็นปกติได้จนกว่าจะหมดฤทธิ์ยา เมล็ดกระเบาทำให้เมาได้ ต้องใช้ในปริมาณน้อย (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคล ซึ่งผู้เขียนยังไม่ได้พิสูจน์ด้วยตนเอง)
ในหนังสือพุทธประวัติของนักธรรมชั้นตรีกล่าวว่า กระเบาเป็นพรรณไม้ประจำตระกูลโกลิยวงศ์ ซึ่งเป็นตระกูลของพระนางพิมพา คำว่า โกลิยวงศ์ หมายถึงวงศ์ไม้กระเบา ในสมัยพุทธกาลนิยมตั้งชื่อพรรณไม้เป็นชื่อประจำวงศ์ตระกูล น่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ในยุคก่อนเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว (ความเห็นของผู้เขียน)


5. กันเกรา Fagraea fragrans Roxb.
วงศ์ Potaliaceae
ชื่ออื่น ตำเสา, ทำเสา (ใต้), ตำเตรา (เขมร-ตะวันออก), มันปลา (เหนือ-ออกเฉียงเหนือ), ตำมะซู, ทำมะซู, ตะมะซู (มลายู-นราธิวาส)
ชื่อสามัญ Anan, Tembusu
กันเกรา เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 10-25 เมตร มักแตกกิ่งต่ำ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดแหลม แคบ หรือรูปกรวยทรงสูง ต้นใหญ่เรือนยอดไม่เป็นระเบียบ เปลือกนกหยาบสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่สม่ำเสมอ เปลือกชั้นในสีเหลือง เป็นเสี้ยน เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แตกกิ่งเว้นระยะใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามกันเป็นกลุ่มตอนปลายกิ่ง แผ่นใบรูปรี ยาว 5-10 ซม. กว้าง 2.5-4.5 ซม. ปลายเป็นติ่งเรียวแหลม โคนสอบเรียวแคบ ผิวใบเกลี้ยง เส้นใบไม่ชัด ก้านใบยาว 1-2 ซม. หูใบคล้ายถ้วยขนาดเล็ก ติดที่โคนก้านใบ ดอกสีขาวนวลเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนเมื่อแก่ เมื่อใกล้ร่วงจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอมดอกออกเป็นกระจุกบนช่อสั้น ๆ ตามง่ามและปลายกิ่ง ยาวประมาณ 10 ซม. กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 3 มม. กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปแตร ยาวประมาณ 2 ซม. กว้างประมาณ 2 ซม. ผลกลมสีส้มถึงแดงเข้ม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 มม. มีรสขม เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก รูปทรงไม่แน่นอน กันเกราสามารถขึ้นได้ดีในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น บนดอนหรือดินลูกรัง ขึ้นในที่ลุ่มบริเวณขอบพรุและพื้นที่น้ำขังชั่วคราว มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาค แต่พบมากทางภาคใต้ของประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่าตอนล่าง หมู่เกาะอันดามัน คาบสมุทรอินโดจีน มาเลเซีย เกาะชวา เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว หมู่เกาะฟิลิปปินส์ถึงซีลีเบส ออกดอกระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม ผลแก่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน
เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน เนื้อละเอียด เสี้ยนตรง เหนียวแข็ง และทนทานต่อปลวก เลื่อย ผ่า ไสกบ ตกแต่งง่าย มีน้ำมันในตัวชักเงาได้ดี ชาวจีนทางภาคใต้นิยมใช้ทำหีบจำปาบรรจุศพ ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมาก เช่น เสา ทำเครื่องเรือน และเครื่องกลึง แกะสลัก กล่องบุหรี่ ทำพื้น ฝา วงกบ ประตู หน้าต่าง รอด ตง อกไก่ ต่อเรือ เช่น ทำกระดูกงู โครงเรือ ทำกระโดงเรือ ด้ามเครื่องมือการเกษตร กังหันน้ำ กระเบื้องไม้ หมอนรอง รางรถไฟ ไม้นี้มีชื่อทางการค้าว่า Anan ตามตำราสรรพคุณยาไทยแก่นกันเกรามีรถเฝื่อน ฝาด ขม เข้ายาบำรุงธาตุ แก้ไขจับสั่น แก้หืด ไอ ริดสีดวง ท้องมาน แน่นหน้าอก ลงท้อง เป็นมูกเลือด แก้พิษฝีกาฬ บำรุงม้าม แก้เลือดลมพิการ เป็นยาอายุวัฒนะ เปลือกบำรุงโลหิต มีศักยภาพเป็นไม้เบิกนำ และไม้ประดับข้างถนนด้วย
ในพิธีวางศิลาฤกษ์และพิธียกเสาเอก มีไม้มงคล 9 ชนิดที่ใช้ในพิธี กันเกราเป็นชนิดหนึ่งที่นำมาใช้

ความคิดเห็น